ขับรถอย่างไร เมื่อเจอน้ำท่วม ??
ช่วงนี้สภาพอากาศบ้านเรามีฝนตกหนักเกือบทุกวัน ส่งผลให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญ เช่น บนท้องถนนที่เป็นเส้นทางสัญจรในการไปทำงานประจำของหลาย ๆ คน การขับรถลุยน้ำที่ท่วมขังก็อาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
วันนี้ DTS Auto Group จะมาแนะนำการขับรถลุยน้ำที่ท่วมขังอย่างไรให้ปลอดภัย ไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
1. ก่อน ขับรถลุยน้ำ ?
ก่อนการขับรถลุยน้ำเราควรประเมินสถานการณ์ก่อนลุยน้ำ ว่าจะลุยไปต่อหรือไม่ !? โดยเบื้องต้นให้เราประมาณระดับน้ำบนท้องถนนไม่ควรเกิน 10 เซนติเมตร หรือระดับไม่เกินข้อเท้า รถส่วนใหญ่ตั้งแต่รถเก๋งขนาดเล็กก็สามารถค่อย ๆ ขับผ่านไปได้เลย เพราะอยู่ในระดับที่ยังท่วมไม่ถึงท้องรถ และท่อไอเสียนั่นเอง!
หากประเมินสถานการณ์แล้วพบว่ามีโอกาสที่ระดับน้ำจะท่วมสูงกว่าที่ประเมินไว้ หรือน้ำท่วมสูงเป็นระยะทางไกลเกินไป หากเรายังฝืนขับรถลุยน้ำก็เท่ากับเพิ่มความเสี่ยงที่รถจะดับหรือเกิดความเสียหายได้มากขึ้น ฉะนั้นเอาเท่าที่ไหวดีกว่านะคะ ^^
2. ระหว่าง ขับรถลุยน้ำ ?
หากเจอกับน้ำท่วมไม่สูงนัก เราสามารถค่อย ๆ ขับรถผ่านจุดที่น้ำท่วมขังได้เลยโดยไม่มีปัญหา แต่หากระดับน้ำสูงกว่านั้น คือสูงถึงใต้ท้องรถ หรือท่วมถึงขอบประตูรถ ท่วมถึงปลายท่อไอเสีย นั่นหมายความว่าการขับรถต้องใช้ความระมัดระวัง และขับรถด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งการขับรถลุยน้ำท่วมสูงมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
#ปิดแอร์ทันที เพราะหากเปิดแอร์ไว้พัดลมระบายความร้อนหม้อน้ำจะทำงาน ซึ่งเมื่อน้ำท่วมถึง พัดลมจะตีน้ำกระจายไปทั่วห้องเครื่อง อาจเกิดไฟช็อตและทำให้เครื่องยนต์ดับ แถมยังมีความเสี่ยงที่ใบพัดลมจะหักอีกด้วย
#ใช้เกียร์ต่ำ หากเป็นเกียร์ธรรมดาให้ใช้เกียร์ 1-2 ก็พอ! เพราะรถต้องใช้แรงในการฝ่าน้ำ ควบคุมความเร็วรถให้ต่ำ รถเบาดับยากที่สุด ส่วนกรณีที่เป็นเกียร์อัตโนมัติก็ปรับตำแหน่งคันเกียร์มาที่ L (Low) เสมอ
#รักษาความเร็วต่ำให้สม่ำเสมอ หรือรักษารอบเครื่องยนต์ไว้ที่ 1,500-2,000 รอบต่อนาที ไม่ขับเร็วเพราะอาจทำให้เกิดคลื่นน้ำที่จะกระทบกับขอบทางเท้าหรือสิ่งกีดขวางอื่นแล้วย้อนกลับเข้ามาที่ตัวรถได้
นอกจากนี้การขับตามคันหน้าในระยะที่ปลอดภัยนับเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้สามารถคาดการณ์ลักษณะของพื้นผิวถนนที่จมอยู่ใต้น้ำได้ เรียกง่าย ๆ ว่าให้คันหน้าช่วยนำทางนั่นเอง ^^
#หากเกิดกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือ เครื่องยนต์ดับในขณะที่แช่น้ำท่วมสูง “ห้ามสตาร์ตเครื่องยนต์โดยเด็ดขาด” เพราะน้ำอาจจะเข้าสู่ระบบเครื่องยนต์ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย ถึงตอนนี้มีทางเลือกอย่างเดียวคือหาวิธีเข็นหรือลากรถไปอยู่ในบริเวณที่พ้นน้ำแล้วหาวิธีแก้ไขต่อไป
3. หลัง ขับรถลุยน้ำ ?
หลังจากสามารถขับรถฝ่ากระแสน้ำมาได้โดยที่รถไม่ดับกลางคัน ถือได้ว่ารอดจากสถานการณ์ไปได้ แต่ก็ยังไม่จบแค่นั้น เราควรที่จะมีขั้นตอนปฏิบัติเพื่อตรวจสอบและรักษารถยนต์เบื้องต้น ดังนี้
– หลังจากขับลุยผ่านน้ำท่วมสูงได้แล้ว ในช่วงแรก ๆ ให้ใช้ความเร็วต่ำแล้วเหยียบเบรกย้ำ ๆ ไล่น้ำออกจากคาลิเปอร์-ผ้าเบรก ซึ่งจะเป็นการเช็กว่าระบบเบรกยังใช้งานได้ปรกติ และหลังจากนั้นควรขับรถต่อไปอีกสักระยะหรือประมาณ 20 นาที เพื่อไล่น้ำหรือความชื้นที่ค้างอยู่ในระบบต่าง ๆ ของรถและเครื่องยนต์
– หากต้องการจอดเช็กรถหลังจากเพิ่งลุยน้ำ “ห้ามดับเครื่องยนต์” เพราะต้องระวังน้ำที่ค้าง และทำให้เกิดความชื้นในห้องเครื่อง รวมไปถึงท่อไอเสีย หากดับเครื่องทันทีอาจมีน้ำที่ค้างย้อนเข้าสู่ท่อได้!
– ดำเนินการตรวจสอบรถในส่วนอื่นต่อไป เช่น มีน้ำซึมเข้าห้องโดยสารหรือไม่ สีรอบตัวรถ หรือล้อและยางได้รับความเสียหายใด ๆ หรือเปล่า
– หากรถมีอาการผิดปกติ เช่น เครื่องยนต์สั่น เดินไม่เรียบ เสียงดัง เร่งเครื่องไม่ขึ้น ควรนำรถไปให้ช่างผู้ชำนาญการตรวจสอบสภาพก่อนนำรถไปใช้งาน เพื่อป้องกันความเสียหายและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ในลำดับต่อไป!
ก่อนเดินทางควรศึกษาเส้นทาง และติดตามข่าวสารก่อน จะมีประโยชน์ และเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารถติด และการที่จะต้องขับรถลุยน้ำท่วม แต่หากเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับความเสียหายและปัญหาต่าง ๆ ได้!!
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย, axa.co.th
#ขับรถลุยน้ำ #น้ำท่วมถนน